Close

สิงหาคม 22, 2015

1 เดือนของน้องขวัญ บริหารเงิน กุ๊มเติงสิ้นเดือน

น้องขวัญเพิ่งทำงานได้ไม่นาน เงินเดือนไม่มากไม่น้อยถ้าเทียบกับเพื่อนฝูง ใครๆก็รู้ว่าขวัญใช้เงินประหยัด เหลือส่งพ่อส่งแม่ ซื้อของสวยๆงามๆได้ตามวัย เพื่อนฝูงมาถามเคล็ดลับขวัญก็บอกว่า “น้องประหยัดค่ากินเจ้า” แต่เอ…ขวัญก็หน้าตาสดชื่นแจ่มใส่ดี ไม่เหมือนคนอดอยากปากแห้ง แอบตามไปดูกันดีกว่าว่าแต่ละเดือนขวัญ บริหารเงิน ค่าอาหารยังไง

ข้าว

ขวัญซื้อข้าวกล้องมาหุงกินเอง เดือนละ 2-3 กิโล ( วันละ 1-2 มื้อ )  100 บาท  ขวัญกินข้าวไม่มาก แต่เลือกเป็นข้าวกล้องเพราะมีวิตามินและไฟเบอร์ ทั้งอิ่มนานและทำให้ไม่ต้องกินอาหารเสริมความงามแพงๆเหมือนสาวอื่น

นม/ นมถั่วเหลือง

ขวัญเลือกดื่มนมถั่วเหลืองเป็นหลัก เพราะมีประโยชน์มากกว่าแถมยังราคาไม่แพง แต่บางทีเบื่อหรือบางช่วงอยากมีนมสดไว้ชงกาแฟปรุงอาหาร ขวัญเปลี่ยนมาดื่มนมธรรมดาแทนบ้าง

ขวัญดื่มนมถั่วเหลืองตอนเช้าวันละ 1 กล่อง (300-330 ซีซี) ซื้อเก็บไว้เฉพาะเวลามีโปรโมชั่นซึ่งจัดกันบ่อยๆ ราคาเฉลี่ยกล่องละ 8 บาท (ถ้าเป็นคุณสุภาพสตรีให้มองหากล่องที่เขียนว่าให้แคลเซียมสูง ซึ่งสองกล่องจะให้ปริมาณแคลเซียมเพียงต่อหนึ่งวัน

เราก็มากินผักใบเขียวหรือแคลเซียมจากแหล่งอื่นเพิ่ม หรือบางวันกินโยเกิร์ตยี่ห้อที่ให้แคลเซี่ยมสูงบ้าง เท่านี้ก็ป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ง่ายๆโดยไม่ต้องกินอาหารเสริมให้เสี่ยงต่อสารพิษตกค้างในตับแล้วล่ะ)

Tips  ของที่ต้องกินทุกวันแบบนี้ให้เลือกแบบที่ไม่ผสมน้ำตาลหรือผสมน้อยที่สุด ให้รวมๆแล้วมีปริมาณน้ำตาลปรุงแต่งอาหารที่เราบริโภคต่อวันไม่เกิน 6 ช้อนชา  สำหรับแอดมินก็พยายามเลือกที่ไม่ผสมเลยค่ะ แต่เจ้ากรรม อาหารที่ขึ้นชื่อว่า “เพื่อสุขภาพ” นี่มันมักจะมาพรอ้มราคาที่แพงขึ้นเป็นพิเศษ แอดฯก็เลยเลือกทางสายกลางโดยของที่จำเป็นก็จะพลิกอ่านส่วนผสมเอาเอง ให้ผสมน้ำตาลน้อยที่สุด มันก็เพื่อสุขภาพได้เหมือนกันโดยไม่ต้องแพงเกินควรนะเจ้าคะ

 

ไข่

ซื้อจากดิสเคาน์สโตร์ เลือก เบอร์ 1 แผงละ 30 ฟอง 90-95 บาท (ถ้าเดือนไหนประหยัดมากๆหรือทุ่มทุนเป็นอย่างอื่นขวัญก็เลือกขนาดเล็กลง แต่บางครั้งไข่ก็มีจัดโปรโมชั่นขายยกแผงราคาถูกมากๆ ขวัญจะทำไข่พะโล้เก็บไว้หรือต้มใส่สลัด)

เนื้อ

ขวัญซื้อเนื้อหมูครั้งละ 300-500 กรัม ไก่ก็เหมือนกัน หมูสับอีกเล็กน้อย นำมาหั่น หมัก แล้วแบ่งฟรีซไว้เป็นส่วนๆ ถ้าเป็นไปได้จะพยายามซื้อตามโปรโมชั่น แล้วเลือกทำกับข้าวตามความเหมาะสมของเนื้อสัตว์ที่ได้มา  เนื้อหมูที่ซื้อได้ตามโปรโมชั่นราคาเฉลี่ยขีดละ 13-15 บาท เนื้อไก่และน่องไก่ ขีดละ 7 บาท โครงไก่ทำซุป วันก่อนห้างดอกบัวมีโปรโมชั่น ขวัญ จัดมาที่กิโลละ 25 บาทเท่านั้น 

เนื้อปลานั้นขวัญทำเองไม่เก่ง ก็เลยไปกินที่บ้านแม่และเลือกสั่งเมนูปลาเมื่อต้องกินอาหารนอกบ้านเฉลี่ยสัปดาห์หนึ่งได้กิน 4-5 ครั้ง

นอกจากนั้นหากอยากได้โปรตีนพิเศษเพิ่ม ขวัญก็มักจะสอยไข่ไก่ลดราคามาผัดกับสารพัดผักเพิ่มเติมจากที่ซื้อปกติแต่หากใครยังกังวลและมีความเชื่อเดิมๆเกี่ยวกับเจ้าคอเลสเตอรอล แนะนำให้ปรุงกับเต้าหู้แทน ซึ่งขวัญก็กินบ่อย ในฐานะอาหารชั้นเลิศสำหรับคนอยากผิวสวยอายุยืนหมื่นปี หมื่นๆปี

รวมๆแล้วขวัญซื้ออาหารส่วนที่เป็นเนื้อสัตว์เดือนละ 150-300 บาท แล้วแต่โปรโมชั่นและความอยากค่ะ

Tips ขวัญไม่เคยประหยัดจนต้องรู้สึกอดอยากปากแห้ง เธอทำเท่าที่รู้สึกว่ามีความสุข ซึ่งจะทำได้อย่างยั่งยืนกว่า

 

ผัก 

เวลาไปดิสเคาน์สโตร์ซื้อเนื้อซื้อไข่ ขวัญจะเลือกผักที่ช่วงนั้นมีโปรโมชั่นหยิบติดมือมาบ้าง นอกนั้นคว้าจักรยานปั่นไปตลาดใกล้บ้านแค่ 2-3 วันครั้งก็ได้ของสด สะอาด และดีต่อสุขภาพมากกว่า โดยส่วนหนึ่งขวัญก็เลือกผักปลอดสารพิษที่ราคาสมเหตุผล อีกส่วนก็นำมาล้างเองหลายๆน้ำ แต่จะให้ปลอดภัย มั่นใจมากๆอย่างขวัญ ก็ลองปลูกตำลึงไว้ริมรั้ว ปลูกฟักแฟงไว้หลังบ้านดูนะคะ หาหนังสือวิธีการจัดสวนเก๋ๆมาจัดเข้า ขี้คร้านจะได้สวนที่ทั้งสวย ทั้งเก๋ อินเทรนด์อีกต่างหาก

Tips ถ้าเจอชาวบ้านเก็บผักริมรั้วมาขายอย่าได้มองข้ามเชียว ผักพื้นบ้านส่วนใหญ่นั้นแข็งแรงและมักจะเติบโตได้ดีโดยไม่ต้องอาศัยยาฆ่าแมลง แล้วใครจะไปใส่ให้เปลืองล่ะคะ ให้หมั่นเช็คว่าช่วงนี้มีผักตามฤดูกาลอะไรแตกดอกออกผลบ้าง การรับประทานอาหารตามฤดูกาลนั้น เป็นวิธีที่ฉลาดที่สุดในการรับเอาพลังของแผ่นดินมาไว้ในร่างกายทีเดียวนะคะ (แถมยังถูกมากๆด้วยนะเออ)

 

ปลา

เชียงใหม่ไม่ได้อยู่ใกล้ทะเล แม้โปรตีนจากปลาจะถือกันว่าดีที่สุด แต่ในเมื่อบทความของเราถือหลักเศรษฐกิจเข้าว่า ขวัญก็เลยมีทางออกสองทาง 1 . ก็คือปลากระป๋อง ไม่ต้องกินแต่ปลาซาร์ดีนก็ได้นะคะ ปลาทูน่าบ้างตามงบ และอย่างที่บอก ถึงจังหวะมีโปรโมชั่นให้ซื้อตุนไว้ 2.เวลากินอาหารนอกบ้านตามงบฟุ่มเฟือย หรือไปเยี่ยมแม่เยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ท่านถามว่าจะกินอะไรให้เลือกแต่เมนูปลาไว้ก่อนเลยค่ะ  ส่วนเมนูปลาตามปกติก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้นะคะ ถ้าจังหวะเหมาะๆไปเจอปลาแซลมอนราคาดีๆลองนำมาทำกับข้าวกินเอง หรือแม้แต่ปลาซาบะเดี๋ยวนี้ก็ราคาไม่แพงมากแล้ว ส่วนปลาดอลลี่หรือปลาสวายนั้น เช็คที่มาก่อนค่ะ ให้โอเมก้าเยอะเหมือนกันนะคะ อย่าดูถูกไป

 

เห็ดและเต้าหู้

เป็นอีกแหล่งโปรตีนชั้นดีที่ราคาไม่แพง โดยเฉพาะถ้าเลือกซื้อตามฤดูกาล บางครั้งขวัญก็เลือกมาทำอาหารต้มพร้อมกันสามอย่างซึ่งจะให้คุณค่าเป็นพิเศษ

 

เครื่องปรุงรส

ขวัญยังไม่ถึงกับกินคลีนตามเทรนด์ แต่เน้นอาหารที่สด และปรุงรสน้อยที่สุด ในหนึ่งปีแทบจะไม่ซื้อเครื่องปรุงเพิ่มเลย และทำกับข้าวแต่ละครั้งก็ใส่น้ำมันและเครื่องปรุงน้อยมาก ส่วนน้ำตาลไม่ใส่เลย (แต่อร่อยเน่อเจ้า) เครื่องปรุงทยอยซื้อเวลาลดราคา รวมๆแล้วประมาณ 100 บาท ++ ค่ะ เฉลี่ย เดือนละ 10 บาท เผื่อซื้อเพิ่มนะคะ

 

เครื่องเทศ

ขวัญปลูกเองค่ะ โหระพา สาระแหน่ พวกนี้ทั้งสวย และดูแลง่ายนะคะ ส่วนเครื่องเคียงน้ำพริกอื่นๆ จัดระบบน้ำดีๆแทบไม่ต้องทำอะไรก็ขึ้นงอกงามทั้งปี

 

โยเกิร์ต ขนม

ขนมปังมื้อเช้า(สำหรับบางวันที่ขี้เกียจ)

 

ผลไม้

อันนี้ก็ต้องอาศัยจังหวะอีก ผลไม้ที่ว่ากันว่ากินวันละผลไม่ต้องเจอหน้าหมออย่างแอปเปิ้ลนั้น เดี๋ยวนี้ราคาแสนแพง แต่ถ้าเช็คราคาบ่อยๆก็อาจจะได้กินที่ราคาถูกบ้าง ขวัญเคยแวะไป tops ได้แอปเปิ้ลแดงนอก มาที่ราคาจาก 89 เหลือ 59 บาท(8 ลูกใหญ่) และล่าสุดที่โลตัส เบอร์ 113 ของอเมริกันหวานหอมเหมือนกัน ขาย 1 แถม 1 แพค ตกราคาเฉลี่ยลูกละ 8 บาทค่ะ ส่วนผลไม้เปี่ยมคุณค่าอื่น เช่น ส้ม หรือ ฝรั่ง ก็ต้องทำจังหวะเข้าซื้อ (เอ๊ย ไม่ใช่หุ้น) หาดีๆจะได้ที่ไม่แพงแต่คุณภาพดี  พวกนี้มองหาในห้างได้บ้างเวลาไปซื้อของจำเป็น แต่ซื้อเฉพาะที่โปรฯแรงๆนะคะ ไม่งั้นแพงมาก (ข้อดีของการซื้อในห้างคือเลือกนานแค่ไหนก็ได้ ซื้อทีละกี่ลูกก็ได้) แต่ปกติขวัญจะซื้อในตลาดได้ถูกกว่าและได้ของสดกินทุกวันด้วย

 

อาหารนอกบ้าน

มื้อปกติ อาหารจานเดียว 35-40 บาท อาหารเป็นมื้อ (สั่งกับข้าวมาแบ่งกันสองคน) เฉลี่ยมื้อละ 50 บาท กินอาหารจานเดียวราว 15 วัน = 500 บาท กินอาหารธรรมดาแบบแบ่งกันกับเพื่อนหรือพี่ 10 วัน =500 บาท นอกนั้นยังมีบุปเฟต์เช่นหมูกระทะในวันที่ขี้เกียจทำกับข้าวและล้างจานมากๆ และอยากกินเนื้อสัตว์เยอะๆ ซึ่งส่วนใหญ่ขวัญก็จะเลือกกินอยู่ไม่กี่ร้านที่เช็คแล้วว่าสะอาดแบบขึ้นป้ายจากกระทรวงฯเลยค่ะ และเพื่อสุขภาพก็จะไม่กินแบบรวมบุปเฟต์น้ำ (ที่จริงก็เพื่อจะกินเนื้อให้ได้เยอะๆนั่นเอง แหะๆ) เฉลี่ยเดือนละครั้ง 110 บาท

Tips บุปเฟต์มื้อพิเศษ อันนี้แอดมินคิดว่าเนื้อหรืออาหารบางประเภทนั้นมันแพง ขอกินสักเดือนละครั้งแบบมากๆให้หายอยาก (ที่จริงไม่กินก็ไม่ตาย แต่มันก็รู้สึกยากจนแร้นแค้นเกินไปนะคะ) จัดอยู่ในงบจำเป็นนะคะ ไม่ใช่งบฟุ่มเฟือย ส่วนนี้อาจจะเป็นเนื้อย่างเกาหลี หรือบุปเฟต์อาหารทะเลที่รวมปลาแซลมอลของโปรดด้วย (ของโปรดใครก็คนนั้นค่ะ เลือกตามอัธยาศัย) หรือบางร้าน บางโรงแรมมีโปรโมชั่นมา เราก็ไปจัดให้หายอยากบ้าง ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาท

 

สรุปค่าใช้จ่ายของน้องขวัญ

ขวัญจ่ายกับข้าวเดือนละ 1,000 บาท

ซื้อนมถั่วเหลืองอีก 240

โยเกิร์ต 200

ผลไม้ 150 บาท

อาหารนอกบ้านมื้อปกติ 1,000 บาท

บุปเฟต์หมูกระทะ 110 บาท

บุปเฟต์อื่นๆ 300 บาท (รวมกินนอกบ้าน  27 มื้อ) 

รวมเป็นเงิน 3,000 บาท

 

ในงบนี้น้องขวัญได้ทั้งคุณค่าอาหาร และคุณค่าทางใจครบถ้วน เลยเน้อ

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

การบริหารการเงิน | ประหยัด | ลดค่าใช้จ่าย | สุขภาพดีสร้างได้ | เงินเดือน | โบนัส

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook